Research Project

ชื่อโครงการวิจัย (ภาษาไทย) การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่นเชิงนิเวศเศรษฐกิจ
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก จังหวัดชัยนาท
 ชื่อโครงการวิจัย (ภาษาอังกฤษ) Economical products and packaging design of charcoal odor
absorber for small community enterprise group of Chainat
ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) ที่รัฐบาลได้ประกาศพันธสัญญาไว้เป็น 4 ด้าน ด้วยกันคือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคน ด้านสังคมและแรงบันดาลใจ และด้านธุรกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ ให้แก่ ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ โดยใช้แนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 พร้อมทั้งขยายการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพจาก 3 ทุน ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น 6 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรม มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะการสร้างฐานทางปัญญาเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับคนและสังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียวที่มีแบบแผนการผลิต การบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำความรู้และจุดแข็งของอัตลักษณ์ไทยมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างรู้เท่าทัน สร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรและความมั่งคั่งด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลและความสมานฉันท์ในทุกภาคส่วนและทุกระดับ เป็นฐานการพัฒนาประเทศที่มั่นคงและสมดุล มุ่งสู่การอยู่ร่วมกันใน สังคมอย่างมีความสุขและเป็นธรรม (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,2554 : ก-ซ)

การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Economic & Ecological Design) จึงเป็นแนวคิดและแนวทางหนึ่ง ซึ่งนักออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ได้นำมาใช้เป็นหลักการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว โดยใช้เป็นกรอบดำเนินการ (Design Direction) หรือชี้ทิศทางเพื่อนำทางสู่การวางแผนออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และรวมถึงบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลงานที่ได้ออกแบบหรือพัฒนานั้นๆ ได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ( Eco Design Product) เป็นผลงานที่ทำให้เกิดประโยชน์ด้านการใช้งานได้อย่างกว้างขวาง อย่างสูงสุด (Universal Design) เป็นผลงานออกแบบที่มีอายุการใช้งานได้อย่างยั่งยืนยาวนาน (Sustainable Design) นับแต่เริ่มต้นคิดไปกระทั่งถึงการเลิกใช้ประโยชน์เมื่อหมดอายุการใช้งานหรือการทำลายผลิตภัณฑ์ที่ได้คิดและสร้างสรรค์ขึ้นมา (Creation & Demolition ) ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นผลที่เกิดจากการขยายตัวของประชากรและเป็นผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจนับแต่ยุคโลกาภิวัฒน์มาจนถึงในยุคปัจจุบัน อันก่อให้เกิดการคิดค้น การทดลอง การต่อยอดความคิด เกิดการขยายตัวของพฤติกรรม กิจกรรมและทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการและเอื้ออํานวยความสะดวกให้แก่มวลมนุษย์มากมาย ซึ่งในขณะเดียวกันของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การเกิดพฤติกรรมหรือกิจกรรมร่วมใช้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ กระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาใช้งานจริงได้นั้น ย่อมต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มาปรับใช้เป็นวัสดุ เป็นฐานในการผลิต ซึ่งในทางกลับกัน ผลจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จึงก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของตนและผู้อื่นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นแนวทางที่รัฐบาลไทยกำหนดใช้ให้เป็นแนวทางเพื่อคิดสร้างกลยุทธ์เพื่อให้หน่วยงาน องค์กรทุกขนาด ทุกระดับ ทุกภาคส่วนและหรือทุกภาคีเครือข่ายความร่วมมือ นับตั้งแต่ระดับชุมชนในท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด ได้นำไปแปลงเป็นกิจกรรมย่อยลงสู่แผนปฏิบัติการ ให้เป็นแนวคิดร่วมดำเนินการและใช้เป็นเครื่องมือสําคัญในการที่จะใช้ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลโดยเร็ว การดำเนินกิจการการผลิตสินค้าและการบริการของชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนของประเทศไทยนั้นเป็นการดำเนินการกิจการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน โดยสามารถแบ่งกิจการตามประเภทการผลิตได้ 18 ประเภท อันได้แก่ การผลิตพืช การผลิตปศุสัตว์ การผลิตประมง การแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ/เสื้อผ้า เครื่องจักสาน ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องจักรกล ของชำร่วย/ของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องดื่ม เครื่องประดับ/อัญมณี เครื่องไม้/เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง การผลิตปัจจัยการผลิต เครื่องปั้น สิ่งประดิษฐ์จากโลหะ การผลิตสินค้าอื่นๆ ส่วนกิจการให้บริการจัดกลุ่มได้ 6 ประเภทคือ ร้านค้าชุมชน ออมทรัพย์ชุมชน ท่องเที่ยว สุขภาพ ซ่อมเครื่องจักรกล และการบริการอื่นๆ โดยมีการจดขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษรและสหกรณ์ โดยมีอายุคราวละ 3 ปี


ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ทำจากถ่านเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดชัยนาทอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งยังมีผู้ประกอบการน้อยมาก จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มกิจการประเภทการผลิตสินค้าอื่นๆ โดยมีผู้ประกอบการที่จดแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโดยตรงรายเดียวคือ ศิวัตราคาร์บอน โดยผลิตเป็นถ่านพลังงานเชื้อเพลิงและเป็นผลิตภัณฑ์ใช้เพื่อการดูดกลิ่นอับชื้น โดยมีการผลิตตามความต้องการสั่งซื้อและตามวัตถุดิบที่มีตามความพร้อม ของวัตถุดิบกะลามะพร้อม กำลังการผลิตยังมีน้อย ส่วนการผลิตโดยผู้ประกอบการรายอื่นนั้นเป็นเพียงรายย่อย การผลิตสู่ตลาดไม่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในความเป็นจริงผลิตภัณฑ์ถ่านไม้หรือพืชพันธุ์ทางการเกษตรนั้นสามารถผลิตได้โดยไม่ต้องรอฤดูกาล แต่ในด้านการพัฒนารูปแบบของสินค้าและการนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้น ยังนับว่าไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร การผลิตถ่านในเชิงพาณิชย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดชัยนาท จึงเป็นการผลิตและการบรรจุอย่างง่ายเพื่อการจัดจำหน่ายตามสภาพของผลิตภัณฑ์และใช้ประโยชน์จากถ่านไม้โดยตรง ผลิตถ่านจากไม้เบญจพรรณโดยวิธีการเผาผลิตขึ้นใช้ตามวัตถุประสงค์หลักๆคือ ประการแรกเป็นการผลิตเพื่อการใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงตามสภาพไม้ที่จัดหาได้ หรือพัฒนาคุณภาพโดยการเผาในเตาเผาที่มีการควบคุมอุณหภูมิสูง พัฒนารูปลักษณ์ใหม่โดยการบดอัดเปลี่ยนสภาพรูปทรงผ่านเครื่องมือบดอัดผสมขึ้นรูปเป็นแท่งรูปร่างรูปทรงง่ายๆ จัดจำหน่ายให้ใช้ภายในครัวเรือนหรือกิจการร้านอาหาร และวัตถุประสงค์รองลงมาเป็นการผลิตเพื่อจัดจำหน่าย โดยมีการศึกษาชี้นำเอาสรรพคุณมาเปลี่ยนหน้าที่ใช้สอยใหม่เป็นจุดเสนอขาย เช่นการใช้ถ่านเพื่อทำหน้าที่ลดกลิ่นในห้องปรับอากาศ ที่ทำงานหรือในรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นเป็นการอบรมและถ่ายทอดความรู้ผ่านปราชญ์หรือผู้รู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น และหรือจากหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปฝึกอาชีพเสริมให้หลังจากการทำงานอาชีพเกษตรกรรม

ตำบลหนองแซง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งมีพื้นที่แบ่งออกเป็น 20 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ประกอบอาชีพเกษตรกรรมถึงร้อยละ 80 และวิถีการทำการเกษตรกรรมของประชาชนในแต่ละปี เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อการเกษตรคิดเป็นมูลค่าร่วม 30 ล้านบาท และจากการที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จึงทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมลงเป็นอย่าง จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาร่วมกันของคนในชุมชนในการลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรลง และต่อมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง นี้จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างชุมชนแบบพึงพาตนเอง ที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆเช่น เทศบาล หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน มีการบูรณาการความร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน โดยยึดจุดก่อเกิดเริ่มจากโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท “เศรษฐกิจพอเพียง” พึ่งตนเอง บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ในพื้นที่ของบ้านแหลมทอง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา เพื่อดำเนินกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ และได้มีการสร้างโรงงานอาหารดิน อินทรีย์ชีวภาพ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และมีแปลงเกษตรผสมผสาน เป็นแปลงสาธิต เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และฟื้นฟูทรัพยากรดินไปในตัว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ได้ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชน ได้นำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางแห่งการพึ่งพาตนเอง และการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัวและชุมชน ต่อมาได้มีการบูรณาการความร่วมมือกัน จากภาคีการพัฒนาต่างๆ หลากหลายภาคส่วนในการให้การส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งทางด้านงบประมาณ และทางด้านวิชาการ จนมีการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง (วันวิศาข์ ภาคสุวรรณ์,2557) นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และทดลองด้านพลังงานสีเขียวให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีกิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการอยู่เป็นศูนย์เรียนรู้ ได้แก่ การผลิตปุ๋ยน้ำ การผลิตปุ๋ยหมัก การผลิตปุ๋ยผง การผลิตปุ๋ยเม็ด การผลิตน้ำมันใบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว และเมล็ดสบู่ดำ การผลิตแก๊สชีวภาพจากขยะในครัวเรือน การผลิตถ่านอัดแท่งไร้ควันจากเศษถ่านเหลือใช้ การสีข้าวจากโรงสีเล็ก การเผาถ่านแบบได้น้ำส้มควันไม้ การผลิตน้ำดื่มชุมชน และพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น (ประชิด ทิณบุตร, 2558) ซึ่งผลลัพท์จากกิจกรรมการฝึกอบรมความรู้หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆเหล่านี้ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ (Product) ต่างๆขึ้นตามมากมาย เป็นผลงานต้นแบบที่สามารถผลิตได้เป็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจได้ แต่ในแง่ของผลิตภาพ (Productivity) หรือการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพเพื่อการแข่งขันทางการค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชนนั้น ยังคงเป็นความต้องการการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือด้านความร่วมมือ การมีส่วนร่วมในกระบวนวิธีการออกแบบสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ อันเกิดจากการใช้วัตถุดิบจากการเกษตรที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นของชุมชน ทั้งโดยตรงหรือวัสดุเหลือใชั เพื่อให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เกิดการสร้างอาชีพเสริม สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ ให้เกิดเป็นทักษะชีวิต วิถีชีวิต เป็นองค์ความรู้ที่จะอยู่คู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสืบไป

จากการที่ผู้วิจัยได้เคยทำการศึกษาวิจัยพัฒนาในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาทมาแล้วเช่นเรื่องการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (2557) และเรื่องการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท (2558) ได้เสนอแนะว่าควรมีการศึกษาวิจัยหรือนำผลวิจัยไปต่อยอด เพื่อออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์และหรือธุรกิจบริการอื่นๆ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นสินค้าด้านอื่นๆอีก (ประชิด ทิณบุตร,2557:134-137) ซึ่งจากการที่ผู้วิจัยได้เข้าสัมภาษณ์เชิงลึกในปี 2557-2558 ทำให้ทราบถึงสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการของชุมชนบ้านแหลมทองและวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพและความรู้ด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สำหรับถ่านที่เกิดจากวัสดุทางการเกษตรกรรม และจากกิจกรรมการเรียนรู้การฝึกอบรมสู่งานอาชีพของศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามปณิธานการดำเนินการของชุมชนกลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจตำบลหนองแซง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในลิขสิทธิ์ ในสินทรัพย์ทางการค้า เพื่อให้สามารถเข้าแข่งขันทางการค้าและจะเป็นการปรับตัวรองรับ ตั้งรับกับการแข่งขันทางการตลาดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC : Asean Economic Community) นับแต่ปี 2559 นี้เป็นต้นไป

ผู้วิจัยเป็นผู้สอนในสาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ จันทรเกษม เป็นอาจารย์ผู้สอนและนักออกแบบที่มีประสบการณ์ตรงด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบตราสัญลักษณ์ และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์สินค้ามาก่อน และมีความพร้อมในการศึกษาวิจัย มีการสร้างสรรค์และการบริการความรู้ด้านการบริการงานออกแบบแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องมาทุกปี จึงมองเห็นปัญหาว่าการผลิตสินค้าชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตจังหวัดชัยนาทนั้น มีความเหมือนคล้ายและมีการผลิตสินค้าซ้ำซ้อนกันกับผลิตภัณฑ์ในจังหวัดอื่นๆทั่วไป เป็นกิจกรรมการผลิตตามแต่ที่ทางจังหวัดส่งเสริมทุนสนับสนุนหรือทางภาครัฐจะมาฝึกฝนอาชีพเฉพาะด้านให้ โดยเฉพาะสินค้าชุมชนประเภทอาหารการจึงเห็นว่า ควรต้องให้การสนับสนุนเชิงลึกและเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำความรู้ไปบริการชุมชนฐานะของภาคีภาคการศึกษา อันจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ถูกต้องอย่างมีหลักวิชา เพื่อพัฒนาคุณภาพและเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งการวิจัยต่อยอดแนวคิดด้วยการใช้แนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจมาเป็นขอบเขตในเนื้อหาการวิจัย จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ด้านรักษ์สิ่งแวดล้อม (Eco Product) เป็นการเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต การพัฒนาศักยภาพการผลิต การตระหนักรู้และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร ผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมสร้างร่วมใช้ภูมิปัญญาในท้องถิ่น มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์เป็นแนวคิด เกิดต้นแบบการศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ได้อย่างเหมาะสมกับฐานะการลงทุนขององค์กร ในระดับท้องถิ่น อันเป็นการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Efficiency Economy ) มาปรับใช้พัฒนาชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชุน ให้เข้มแข็งขึ้นยั่งยืนได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายการบริการงานวิชาการ งานวิจัยและงานสร้างสรรค์ ดังที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมได้กำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์การวิจัยไว้แล้วนั่นเอง

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตถ่านดูดกลิ่นเชิงนิเวศเศรษฐกิจ
2. เพื่อออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าถ่านดูดกลิ่น สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดชัยนาท ภายใต้แนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม
3. เพื่อประเมินความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีต่อภาพรวมผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าถ่านดูดกลิ่น ภายใต้แนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ
ขอบเขตของโครงการวิจัย
1. ขอบเขตด้านเนื้อหา การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาการออกแบบพัฒนา เครื่องมือ รูปแบบ
การผลิต ผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่น และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามแนวคิดเชิงนิเวศเศรษฐกิจ อย่างมีส่วนร่วม
2. ขอบเขตด้านสถานที่วิจัย กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง อำเภอหันคา และวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กอื่นๆ ในจังหวัดชัยนาท ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ
3. ขอบเขตด้านประชากรที่ศึกษา เป็นกลุ่มประชากรกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่น และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholder) อันได้แก่ตัวแทนสมาชิก/ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน จากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน จากภาคสังคม ผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการทางการออกแบบสร้างสรรค์ และจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป
4. ขอบเขตด้านเวลา กำหนด 1 ปี

นิยามศัพท์เฉพาะ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco Product and package Development) หมายถึงกระบวนการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัสดุและพลังงานอย่างคุ้มค่า ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบก่อนการผลิต สู่การนำไปใช้งาน ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต เป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าอย่างครบวงจรเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม

ถ่านดูดกลิ่น (Chacoal Odor Absorber) หมายถึง ผลิตภัณฑที่ไดจากการนําถ่านมาบดใหมีความละเอียดตามต้องการ อาจเติมสมุนไพรที่มีสมบัติในการดูดกลิ่น เชน ชา สะเดา บรรจุในภาชนะบรรจุ หรืออัดเปนรูปทรงตางๆ และหรือไดจากการนําผลไมมาเผาในที่อับอากาศ จนกลายเปนถ่านโดยยังคงรูปทรงผลไมไว้เช่นเดิม

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (Community Enterprise Group) หมายถึง การดำเนินการกิจการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน

จังหวัดชัยนาท (Chainat Province) หมายถึงจังหวัดหนึ่งของไทยที่ตั้งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอเมืองมโนรมย์ อำเภอวัดสิงห์ อำเภอสรรพยา อำเภอสรรคบุรี อำเภอหันคา และอำเภอหนองมะโมง

ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Product & Package) หมายถึง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากกระบวนการและเทคโนโลยีที่ใส่ใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากการคัดเลือกวัตถุดิบในการผลิต การเลือกใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใช้พลังงานจากน้ำและไฟฟ้าในการผลิตอย่างคุ้มค่ามากที่สุด จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ รอการบรรจุลงในหีบห่อและบรรจุภัณฑ์สำหรับเตรียมการขนส่งและจัดจำหน่ายให้กับตลาดผู้บริโภคต่อไป รวมถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์นั้นๆอย่างถูกวิธี

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) หมายถึง การวิจัยที่ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นการวิจัยที่ผสมผสานการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Research) กับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research) รวมทั้งวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Quanlitative Research) เข้าด้วยกัน เพื่อได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ในการแก้ไขปัญหาเพื่อชุมชน ด้วยการให้ผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย ได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมตรวจสอบและการมีหุ้นส่วนใช้ประโยชน์จากการวิจัยที่ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน

No comments:

Post a Comment